เมื่อไม่กี่วันก่อน มีข่าวหนึ่งที่น่าสนใจมาก คือ
เฟซบุ๊กเพจ "Daidomon" ประกาศปิดสาขาเซ็นทรัลอุบล โดยจะให้บริการถึงวันที่ 30 เมษายน 2567 เป็นวันสุดท้าย ...
โดยไดโดมอน คือบุฟเฟตต์ปิ้งย่างแห่งแรกๆในประเทศไทย
ซึ่งในสมัยก่อนธุรกิจบุฟเฟตต์ ไม่ได้เป็นที่นิยมเหมือนอย่างในปัจจุบัน ทำให้ไดโดมอนมีชื่อเสียงมากในเรื่องของความคุ้มค่า
เส้นทางของไดโดมอนถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ
จากร้านที่มีอยู่หลายสาขา ถูกขายกิจการออก และเปลี่ยนธุรกิจใหม่โดยกลุ่มทุนใหม่ๆ
จนสุดท้ายเหลือเพียงสาขาเดียว ไดโดมอนมีที่มา ที่ไปอย่างไร อยากจะเล่าให้ฟังแบบนี้ครับ ...
ไดโดมอน เริ่มก่อตั้งเป็นครั้งแรกในปี 2526 ในชื่อว่า บริษัท ยากินิกุ ไดโดมอน จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น
ก่อนจะเปลี่ยนชื่อมาเป็นบริษัท ไดโดมอน กรุ๊ป ในปี 2533 และมีเป้าหมายชัดเจน คือการเป็นร้านบาร์บีคิวสไตล์ญี่ปุ่นแห่งแรกๆในไทย
ก่อนที่ปี 2536 จะมีกลุ่มผู้ร่วมทุนกลุ่มใหม่ คือ กลุ่มพัฒนพิบูล, เอ็ม เค เรสโตรองค์ และไมเนอร์ฟู้ด เข้ามาร่วมทุน
ทำให้ทุนจดทะเบียนเริ่มแรกอยู่ที่ 3 ล้านบาท พุ่งขึ้นมาเป็น 120 ล้านบาท ภายในไม่กี่ปี
ต่อมาในปี 2544 บริษัทได้เปลี่ยนมาเป็นมหาชน ในชื่อใหม่คือ บริษัท ไดโดมอน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และใช้ชื่อย่อว่า "DAIDO"
มีทุนจดทะเบียน 260 ล้านบาท และมีสาขาที่เปิดดำเนินการมากถึง 67 สาขา โดยมี 4 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ
1. อาหารประเภทบาร์บีคิวบุฟเฟ่ต์ รับประทานแบบไม่จำกัดปริมาณ สัดส่วนรายได้ 60%
2. อาหารญี่ปุ่นและบาร์บีคิว แบบสั่งเป็นชุดๆ และอาหารจานเดียว สัดส่วนรายได้ 20%
3. ของหวานและเครื่องดื่ม สัดส่วนรายได้ 19%
4. ธุรกิจขายเครื่องปรุงรส น้ำจิ้ม สัดส่วนรายได้ 1%
ธุรกิจของ DAIDO ไปได้เรื่อยๆ เพิ่มขึ้นตามการขยายสาขาที่มากตาม
อาจจะด้วยเหตุผลที่ว่า ณ เวลานั้นธุรกิจร้านอาหารบุฟเฟตต์ประเภทปิ้งย่างยังไม่มีคู่แข่งมากนัก
จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงปี 2550 ที่ผลประกอบการของ DAIDO เริ่มลดลง
และชัดเจนมากขึ้นในปี 2551 ที่มีผลประกอบการขาดทุนหนักถึง 1.55 พันล้านบาท ทำให้สถานะการเงินของบริษัทตกต่ำลง
จนทำให้ DAIDO ต้องค่อยๆ ทยอยปิดสาขาลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมีตัวละครใหม่เข้ามา ชื่อว่า "HOTPOT"
ในปี 2554 บริษัท ฮอท พอท จำหัด (มหาชน) หรือ HOTPOT ได้ทำการซื้อกิจการสาขาของ DAIDO ที่มีอยู่ 20 สาขาละเครื่องหมายการค้าไดโดมอน
โดยใช้เงินลงทุนกว่า 45 ล้านบาท
หมายความว่า DAIDO ได้ขายธุรกิจร้านอาหารของตัวเองออกไปแล้ว และไม่มีธุรกิจเป็นของตัวเอง
ต่อมาไม่นาน DAIDO มีดีลกับ "PF" หรือบริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน)
โดย DAIDO เปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น "วีรีเทล"
และ PF ได้ขายบริษัท เซ็นเตอร์พ้อยท์ ช็อปปิ้ง มอลล์ จำกัด ให้กับ วีรีเทล มูลค่ากว่า 400 ล้านบาท
และ PF จะเข้าไปถือหุ้นวีรีเทลต่ออีกทีหนึ่ง
ปิดฉากหุ้น DAIDO นับตั้งแต่นั้น ...
- กลยุทธ์ Bottom-up Approach หาหุ้นตัวแรกง่ายๆ ด้วยการสังเกตจากรอบตัวเรา
- ทำไมเราถึงเห็น Nayib Bukele พยายามใช้ Bitcoin เป็นเงินของประเทศ
- TIDLOR กับการเติบโตที่พอดี หุ้นที่ได้รับอานิสงค์จากวัฏจักรดอกเบี้ย "ขาลง"
กลับมาที่ HOTPOT
HOTPOT ทำธุรกิจร้านอาหารประเภทสุกี้แบบบุฟเฟตต์ภายใต้ชื่อ "ฮอทพอท" กินได้ไม่อั้น
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะซื้อร้านอาหารปิ้งย่างบุฟเฟตต์เข้ามาเติมเต็มร้านอาหารของตัวเอง
และ HOTPOT ก็ทำสำเร็จ ทำให้ร้านอาหารในเครือมีสาขามากถึง 130 สาขาทั่วประเทศ
และจดทะเบียนเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงเดือนกันยายนปี 2555
ธุรกิจของ HOTPOT เป็นไปได้ด้วยดี และถือเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงมากในสายตาของนักลงทุน
เพราะจำนวนสาขาของร้านแตะเพิ่มขึ้นถึง 200 สาขาทั่วประเทศ และรายได้มากถึง 2 พันล้านบาท
แต่ตลอดการเดินทางของ HOTPOT เจอคู่แข่งที่เข้ามาท้าทายอยู่ตลอดเวลา ทั้งรายเล็กและรายใหญ่
อีกทั้งผู้บริโภคมีทางเลือกที่มากขึ้น โดยเฉพาะร้านอาหารสุกี้ ชาบู ระดับกลาง ที่ไม่เน้นความหรูหรามากแต่เน้นเรื่องความคุ้มค่า
ทำให้ HOTPOT โดนแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดไปเรื่อยๆ และต้องทยอยปิดสาขาที่ไม่ทำกำไรไปหลายแห่ง
ธุรกิจของ HOTPOT อยู่ในสภาพย่ำแย่ ราคาหุ้นตกต่ำ จนมีการขอเพิ่มทุนในปี 2560 โดยขายหุ้นให้กับนักธุรกิจชาวไต้หวัน
ต่อมาในปี 2561 HOTPOT ได้ขายกิจการออกไปให้กับ บริษัท เจซีเค ฮอสพิทอลลิตี้ จำกัด (มหาชน) ของกลุ่ม "เตชะอุบล"
และเปลี่ยนชื่อที่ใช้ในการซื้อขายจาก "HOTPOT" มาเป็น "JCKH"
หลังการเข้ามาบริษัทมีการปรับโครงสร้างหลายครั้ง ปิดสาขาที่ไม่ทำกำไร และยังมีการเพิ่มทุนในเวลาต่อมา
แต่น่าเสียดายที่ต้องเจอกับวิกฤตโควิดทำให้แผนการของ JCKH ต้องสะดุดไป และไม่ได้เป็นไปตามเป้า
ส่งผลให้ร้านอาหารในเครือของ JCKH ต้องปิดไปหลายร้านและหลายแบรนด์ เช่น
- ซูเปอร์ พอท (Super Pot) พรีเมียมสุกี้-ชาบู ที่เปิดให้บริการในปี 2559 และปิดในปี 2560
- บอนไซ ร้านอาหารญี่ปุ่น ที่เปิดให้บริการปี 2562 และปิดตัวในปี 2564
ในปี 2565 JCKH เล็งเห็นว่าผู้บริโภคต้องการทานปิ้งย่างมากขึ้น จึงพยายามขยายสาขาไดโดมอนจากเดิม 5 สาขา ให้มี 15 สาขาภายในปี 2565
แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ บริษัททยอยปิดสาขาลงเรื่อยๆ
จนปี 2566 บริษัทปิดสาขาเซ็นทรัลอุบล ในวันที่ 30 เมษายน เหลือสาขาฟิวเจอร์พาร์ครังสิตเป็นสาขาสุดท้าย
ปัจจุบันหุ้น JCK หรือ บริษัท เจซีเค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) มีธุรกิจร้านอาหารในเครือ 5 แบรนด์ด้วยกัน คือ
1. HOTPOT Buffet ร้านอาหารสุกี้ชาบู บุฟเฟ่ต์
2. Daidomon Korea Grill บุฟเฟ่ต์ปิ้งย่างสไตล์เกาหลี
3. Zheng Dou Grand ภัตตาคารอาหารจีน ซีฟู้ดส์ และติ่มซำ ระดับพรีเมี่ยม
4. Shabu Tomo ชาบูพรีเมี่ยมสไตล์ญี่ปุ่น
5. Burger & Lobster ร้านอาหารสัญชาติอังกฤษ ที่ Siam Paragon
ผลประกอบการของบริษัทที่ผ่านมา ...
ปี 2562 บริษัทขาดทุน 158 ล้านบาท
ปี 2563 บริษัทขาดทุน 142 ล้านบาท
ปี 2564 บริษัทขาดทุน 340 ล้านบาท
ปี 2565 บริษัทขาดทุน 227 ล้านบาท
ปี 2566 บริษัทขาดทุน 108 ล้านบาท
ตอนนี้ราคาหุ้นซื้อขายอยู่ที่ 0.03 บาทต่อหุ้น

ราคาหุ้น JCKH ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
https://www.tradingview.com/symbols/SET-JCKH/
เส้นทางของ DAIDO สู่ HOTPOT ก่อนจะมาเป็น JCKH เป็นเส้นทางที่มีอุปสรรคและความท้าทายอยู่เต็มไปหมด
ในแง่ของการตลาดแล้ว ก็อาจจะมีเรื่องเล่าหรือกรณีศึกษาให้ได้พูดคุยกัน
แต่ในแง่ของราคาหุ้นแล้ว ถือเป็นหุ้นอีกตัวหนึ่งของตลาดหุ้นไทย ที่ไม่ประสบความสำเร็จ และสร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุน ครับ
------------------------------------------------------------------------------
Reference
ผลประกอบการสำคัญ : บริษัท เจซีเค ฮอสพิทอลลิตี้ จำกัด (มหาชน)
ฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท เจซีเค ฮอสพิทอลลิตี้ จำกัด (มหาชน)