ย้อนรอยวิกฤต ITD แบบโพสต์เดียวจบ
เกิดอะไรขึ้นที่ทำให้บริษัทมีวันนี้
.
.
ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมา บริษัทรับเหมาก่อสร้างที่อยู่ในหน้าสื่อมากที่สุด คงจะหนีไม่พ้น ITD หรือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)
สาเหตุเป็นเพราะว่าโครงการอาคาร สตง. แห่งใหม่ สูง 30 ชั้น ที่ประสบเหตุ เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างกิจการร่วมค้า "ไอทีดี-ซีอาร์อีซี" (ITD-CREC Joint Venture) ทำให้ ITD กลับมามีชื่อในโลกโซเชียลอีกครั้ง พร้อมกับฐานะทางการเงินของบริษัทที่ไม่ค่อยจะดีเท่าไรนัก
.
ถ้าเราย้อนเวลากลับไป วิกฤตครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกของ ITD แต่เป็นการสั่งสมมาเรื่อยๆ ในอดีตตั้งแต่เรื่องของ โครงการที่ลงทุนผิดพลาด ลงทุนไปแล้วไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือแม้แต่การทำธุรกิจที่มีอัตรากำไรต่ำเกินไป สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ ITD อยู่ในฐานะที่อ่อนแอ เงินสดขาดมือ และหนี้สินของบริษัทก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
.
เกิดอะไรขึ้นกับ ITD วันนี้ Stock2morrow จะมาเล่าให้ฟัง
ITD เติบโตมาจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างโครงการของภาครัฐเป็นหลัก สร้างเมกะโปรเจกต์มากมายในประเทศไทย
แต่ด้วยอัตรากำไรที่ต่ำ และรายได้ที่เข้ามาไม่แน่นอน ส่งผลให้ราคาหุ้นเคลื่อนไหวในกรอบ ขึ้นๆแลงๆ เป็นที่ชื่นชอบของนักเก็งกำไร แต่นักลงทุนวีไอต่างก็ส่ายหัว
และมองว่าเป็นบริษัทที่ไม่น่าลงทุนถือหุ้นระยะยาว จึงเป็นที่มาของ ITD ว่าต้องทำอะไรเพื่อให้บริษัทมีการเติบโตอย่างมั่นคง
ก้าวแรกของบริษัทเลยมุ่งไปที่ "เหมืองโพแทช" และโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายที่ประเทศเมียนมา
.
ในปี 2553 ITD ได้สิทธิสัมปทานพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายระยะเริ่มแรก (DSEZ Initial Phase) เพื่อพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 27 ตารางกิโลเมตร และโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้อง 8 โครงการ ในเมียนมา ลงทุนพัฒนาโครงการทวายรวม 7,863.42 ล้านบาท
.
ต่อมาไม่นาน ITD ได้เข้าไปลงทุนในธุรกิจเหมืองโพแทชที่อุดรธานี โดยได้รับสัมปทานจากภาครัฐยาว 25 ปี
โดยมีขนาด 4แปลงของแหล่งแร่อุดรใต้ รวมเนื้อที่ 26,446 ไร่ 1 งาน 49 ตารางวา
แบ่งออกเป็นการก่อสร้าง 3 ปี และมีข้อผูกพัน คือ ขายในประเทศก่อน 7 แสนตันต่อปี และเกิดส่วนเกินจึงส่งไปขายต่างประเทศ 1.4 ล้านตันต่อปี
โดยตอนนั้น ITD มีการถือหุ้นในเหมืองโพแทช 90% และกระทรวงการคลังถือหุ้น 10%
โครงการนี้ถือเป็นโครงการเรือธงที่นักลงทุนมองว่าจะพลิกฟื้น ITD ให้กลับมามีกำไรที่เติบโตอย่างมั่นคง
ไม่ใช่บริษัทรับเหมาที่้รายได้ขึ้นๆ ลงๆ ตามโครงการของภาครัฐอีกต่อไป ราคาหุ้นของ ITD ปรับตัวขึ้นค่อนข้างดี
สอดคล้องกับมุมมองนักวิเคราะห์ว่า ITD เป็นอีกหุ้นที่น่าจับตามอง
.
เหมือนทุกอย่างกำลังจะไปได้สวย
แต่แล้วในปี 2563 คณะกรรมการบริหารงานพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของเมียนมา หรือ DSEZ MC
แจ้งยกเลิกสัญญาสัมปทาน โดยให้เหตุผลว่าคู่สัญญากลุ่มธุรกิจร่วมทุนที่จดทะเบียนในเมียนมา (Project Companies) ผิดนัดไม่ชำระค่าสิทธิตามสัญญาสัมปทานและไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขบังคับก่อนบางประการในการเริ่มดำเนินการตามสัญญาสัมปทานได้
ประเด็นนี้ทำให้นักลงทุนกังวลอนาคตของ ITD เป็นอย่างมากจึงเทขายหุ้น ITD ลงมาอย่างหนัก
พร้อมกับประเด็นข่าวร้ายอีกหลายอย่าง เช่น เรื่องปัญหาเครื่องจักรจากโครงการเหมืองถ่านหินแม่เมาะ 9 ที่มีปัญหากับ กฟผ.
ปัญหาการก่อสร้างที่ล่าช้าหลายโครงการทำให้งบบานปลาย และส่วนแบ่งขาดทุนจากบริษัทร่วมในบังกลาเทศ ที่ว่าชื่อ First Dhaka Elevated Expressway Co., Ltd. มีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเกิดขึ้น
หลังเงินสกุลตากาของบังกลาเทศอ่อนค่าลงเทียบกับสกุลดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เงินกู้สกุลดอลลาร์ของบริษัทร่วมดังกล่าวมีมูลค่าสูงขึ้นในสกุลเงินท้องถิ่น
.
บทวิเคราะห์หลายแห่งมองว่า ผลประกอบการของ ITD ผันผวนมาก โดยเฉพาะธุรกิจก่อสร้างในต่างประเทศที่ต้นทุนการก่อสร้างไม่เป็นไปอย่างที่วางไว้ อัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน และมักจะมีรายจ่ายพิเศษที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้บริษัทต้องตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญและค่าเผื่อผลขาดทุนจากการด้อยค่า
.
ปัญหาหลายๆ โครงการที่เกิดขึ้น ทำให้ส่งผลไปยัง "เหมืองโพแทช" ที่เคยกล่าวเอาไว้ก่อนหน้า
โดยนักลงทุนคาดว่า "เหมืองโพแทช" จะเป็นการเติบโตของ ITD แต่ด้วยสถานะทางการเงินของบริษัทไม่ค่อยจะดีเท่าไรนัก
ITD จึงประกาศขายโครงการเหมืองโพแทช เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่อง
โดยบริษัทคาดว่า สิทธิในเหมืองแร่โปแตช ที่ ITD ถืออยู่ผ่านบริษัทลูกนั้นน่าจะมีมูลค่าราว 18,000 ล้านบาท
ถ้าหากขายได้ เงินจำนวนนี้ ทาง ITD ก็น่าจะเอาไปชำระหุ้นกู้ที่ขอเลื่อนจ่ายไป และใช้เสริมสภาพคล่อง เพื่อต่อลมหายใจให้ธุรกิจ
อย่างไรก็ตามยังไม่มีการยืนยันถึงราคา และผู้ซื้อว่าจะเป็นใคร
เท่ากับว่า ITD ก็ยังต้องเจอกับสภาวะทางการเงินที่ย่ำแย่อยู่เหมือนเดิม
.
ด้วยสาเหตุที่กล่าวมาทั้งหมด ทำให้ช่วงปลายปี 2566 สื่อเริ่มตีประเด็นว่ามีบริษัทรับเหมาขนาดใหญ่ของไทยมีแนวโน้มสูงมากที่จะผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้
ทำให้คนในตลาดหุ้นมองไปในทางเดียวกันว่าน่าจะเป็น ITD ส่งผลให้ราคาหุ้น ITD ปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว
แล้วก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ITD มีมีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระปี 2567 รวม 5,670 ล้านบาท แบ่งเป็น
หุ้นกู้รุ่น ITD24A ที่จะครบกำหนดชำระในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 วงเงิน 2,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 5.25%
และหุ้นกู้ที่จะครบชำระในวันที่ 4 ธันวาคม 2567 จำนวน 2 รุ่น คือ ITD24DA วงเงิน 2,455 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 5.8%
และหุ้นกู้รุ่น ITD24DB วงเงิน 1,215 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 5.0%
ท่ามกลางหนี้สินของบริษัทที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ส่วนของผู้ถือหุ้นปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว
.
งบดุลล่าสุด ITD มีหนี้สินรวมอยู่ที่ 1.1 แสนล้านบาท แต่มีส่วนของผู้ถือหุ้นเพียงแค่ 759 ล้านบาทเท่านั้น
และมีขาดทุนสะสมสูงถึง 1.1 หมื่นล้านบาท เรียกได้ว่าสถานะการเงินของบริษัทอยู่ในขั้นวิกฤต คงจะไม่ผิดเท่าไรนัก
ตัวเลข D/E ของอิตาเลียนไทย อยู่ที่ระดับ 5.98 เท่าในปี 2564 ก่อนจะพุ่งมาเป็น 22.9 เท่าในปี 2567
.
ไม่ใช่แค่งบดุลอย่างเดียว แต่ผลประกอบการของ ITD ก็ย่ำแย่มากด้วยเช่นกัน
ปี 2563 รายได้ 54,915.19 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 1,104.45 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 59,698.10 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 155.62 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 67,833.32 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 4,758.85 ล้านบาท
ปี 2566 รายได้ 64,530.26 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 1,072.37 ล้านบาท
ปี 2567 รายได้ 72,453.98 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 5,775.85 ล้านบาท
.
ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเป็นธุรกิจที่บริหารได้ยาก กำไรน้อย ถึงแม้จะมีงานเข้ามาเรื่อยๆ แต่ก็ไม่อาจจะบอกได้ว่างานที่รับมากำไรมากหรือน้อยแค่ไหนจนกว่าจะจบงาน
จึงไม่แปลกใจเลยที่หุ้นรับเหมาก่อสร้างในตลาดหุ้นไทยมักไม่ค่อยไปไหน อาจจะด้วยเรื่องสภาพคล่องของโครงการที่ไม่สม่ำเสมอ
กล่าวคือ ถ้าบริษัทเริ่มทำงาน ก็ต้องมีการเบิกค่างวดงาน ถ้ามีการล่าช้าหรือบริษัทไม่มีโครงการใหม่ๆ ก็พร้อมจะขาดทุนสภาพคล่องได้ทันที
เพราะบริษัทมีต้นทุนเรื่องค่าจ้างคนงานที่ต้องจ่ายออกไปเรื่อยๆ มีต้นทุนอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เรามักจะเห็นบริษัทรับเหมาก่อสร้าง พยายามไปทำธุรกิจอย่างอื่น
ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ CK หรือ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ที่ไปถือหุ้นใน BEM และ TTW
หรือแม้แต่การพยายามสปินออฟบริษัทลูกออกมาเพื่อเพิ่มรายได้ เช่น CKP ที่ทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า
.
ก็ถือเป็นอีกโจทย์ที่ท้าทายของ ITD ว่าจะผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากอยู่ตอนนี้ได้หรือไม่
ประเด็นที่นักลงทุนให้ความสนใจ คือ การขายเหมืองโพแทชที่กำลังจะเกิดขึ้น
โดยมูลค่าโครงการอยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านบาท ถ้าขายได้อย่างที่ประเมินไว้จริงๆ สภาพคล่องก้อนนี้ก็อาจจะต่อลมหายใจของบริษัทไปอีก
แต่เราต้องไม่ลืมว่าโครงการนี้ยังไม่มีผู้ซื้อชัดเจน และราคาซื้อขายก็อาจจะได้ต่ำกว่าที่ประเมินเอาไว้
อาจจะเป็นปัจจัยลบต่อ ITD ในระยะหลังก็เป็นไปได้
#Stock2morrow #สื่อสถาบันความรู้และสังคมของนักลงทุน #หุ้นไทย #ตลาดหุ้นไทย